แก้ไขอาการนอนกรนภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

เสียงและการนอนกรน

เคยหรือไม่ที่หลังตื่นนอนขึ้นมาแล้วรู้สึกว่านอนหลับไม่เต็มอิ่ม อยากนอนต่อ หลายต่อหลายครั้งคิดว่าตัวเองมีอาการขี้เกียจ ขี้เซา ไม่ยอมลุกจากที่นอนง่ายๆ ถ้าหากมีอาการดังกล่าวจงพึงระวังว่าคุณอาจจะมีอาการนอนกรนและมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย โดยปกติผู้ชายจะนอนกรนมากกว่าผู้หญิง คนอ้วนทุกคนนอนกรนและในคนที่ผอมก็นอนกรนได้เช่นกัน เราลองมาดูกันว่าอาการนอนกรนนั้นส่งผลอย่างไรและสำหรับผู้ที่นอนกรนควรปฏิบัติตัวอย่างไรกันบ้าง

อาการนอนกรนเกิดจากอะไร

ขณะนอนหลับ ทางเดินหายใจส่วนบนจะแคบลงเนื่องจากกล้ามเนื้อคอมีการคลายตัวและหย่อนตัว ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง เมื่อมีอากาศไหลผ่านทางเดินหายใจที่แคบนั้น ทำให้เนื้อเยื่อคอต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เพดานอ่อน ทอนซิล ลิ้นไก่ เกิดการสั่นจนกลายเป็นเสียงกรน นอกจากนี้แล้ว ในผู้ที่มีอาการต่อมทอนซิลโต ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากที่มีเนื้อเยื่อผนังคอหนากว่าปกติก็มีโอกาสนอนกรนมากขึ้นด้วย

ประเภทของการนอนกรน

  • กรนธรรมดา คนกลุ่มนี้ไม่มีภาวะหยุดหายใจ เพียงแค่นอนกรนเท่านั้น ซึ่งทำให้ผู้ที่อยู่รอบข้างเกิดความรำคาญ นอนหลับได้ยาก
  • กรนอันตราย คือผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วย มักมีอาการง่วงผิดปกติในเวลากลางวัน กระทบกับสภาพชีวิตในเวลากลางวัน มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดในสมอง ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น ซึ่งพบว่าผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจและหายใจแผ่วเบามากกว่า 30 ครั้งต่อชั่วโมง ถือว่าอยู่ในระดับอันตรายขึ้นรุนแรง

สัญญาณบ่งบอกว่าคุณมีอาการกรนประเภทอันตรายแล้วล่ะ

  • อ่อนเพลีย ไม่สดชื่นหลังตื่นนอนรู้สึกนอนไม่เต็มอิ่ม
  • มึนศีรษะอยากนอนต่อ ตื่นยากลุกยาก
  • ง่วงในเวลากลางวัน มีอาการเบลอเผลอหลับ
  • หายใจติดขัด สะดุ้งผวา สำลักน้ำลาย
  • ตื่นนอนกลางดึก หรือปัสสาวะกลางดึก
  • การคิดอ่านช้าลง สมองตื้อ ขาดสมาธิหลงลืมง่าย
  • เคยมีประวัติเส้นเลือดหัวใจตีบเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต
  • มีโรคเบาหวานความดันสูงไขมันในลิ่มเลือดสูงร่วมด้วย
  • ขับรถเผลอหลับในบ่อยครั้ง
  • ความรู้สึกทางเพศลดลง

วิธีกาตรวจสอบประเภทการกรน

  • ตรวจสอบด้วยการตรวจนอนหลับหลายมิติ(Polysomnogramหรือ Sleep test) โดยใช้ดัชนีหยุดหายใจและหายใจแผ่วเบา ประกอบกับการวัดระดับออกซิเจนในเลือดที่ต่ำที่สุดขณะนอนหลับ
  • การส่องกล้องตรวจระบบทางเดินหายใจส่วนบน ใช้ตรวจสอบตำแหน่งของทางเดินหายใจส่วนบนและหาสาเหตุของการอุดกั้นทางเดินหายใจ
  • การเอ็กซเรย์ หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เมื่อตรวจสอบโครงสร้างทางเดินหายใจ

สาเหตุของการนอนกรน

  • ทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น ทำให้หายใจไม่สะดวก
  • กล้ามเนื้อที่ลำคอและลิ้นหย่อนคลายตัว เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ
  • เนื้อเยื่อลำคอหนาและมีขนาดใหญ่ ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง
  • ลิ้นไก่ยาวหรือเพดานอ่อนยาว ทำให้อุดกั้นทางเดินหายใจ
  • การมีน้ำหนักตัวมากเกินไป รวมถึงการเป็นโรคทางเดินหายใจต่างๆ ก็เป็นสาเหตุสำคัญของอาการนอนกรน
  • การดื่มแอลกอฮอล์
  • โพรงจมูกอุดกั้นเนื่องจากเยื่อจมูกบวมหรือแกนกลางเบี้ยว
  • กระดูกกรามล่างและคางหด
  • กระดูกกรามบนหด

การรักษาอาการนอนกรน

แนวทางรักษาอาการนอนกรนมีได้หลายวิธีโดยปกติแล้วแพทย์มักจะแนะนำให้ใช้วิธีไม่ผ่าตัดก่อน

วิธีไม่ผ่าตัด

  • ปรับท่าทางการนอน โดยปกติมักจะกรนขณะนอนหงาย ก็เปลี่ยนเป็นทางนอนตะแคง หรือบางคนอาจจะนอนคว่ำแล้วไม่กรน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสรีระของแต่ละบุคคล
  • ลดน้ำหนัก ผู้ที่มีน้ำหนักเกินส่วนใหญ่มักนอนกรน ดังนั้นการลดน้ำหนักจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาได้
  • ออกกำลังกาย เพื่อฝึกให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ต่อเนื่องขึ้น เช่น การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เล่นเทนนิส เตะฟุตบอล เพื่อเพิ่มความตึงตัวให้กับกล้ามเนื้อคอ ลดการหย่อนและอุดกั้นทางเดินหายใจ
  • หลีกเลี่ยงยาที่ทำให้ง่วง จำพวกยากล่อมประสาท ยาแก้แพ้ ยานอนหลับ
  • งดดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่ทำให้เนื้อเยื่อระบบทางเดินหายใจส่วนบนบวม สารนิโคตินกระตุ้นให้สมองตื่นตัว นอนหลับไม่สนิท
  • ใช้อุปกรณ์ช่วยลดกรนเช่น เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกในการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือ เครื่องมือในช่องปาก ใช้เพื่อจัดตำแหน่งดันลิ้นมาด้านหน้า ปรับขากรรไกรล่างให้ยื่นมาด้านหน้า รวมทั้งยกเพดานอ่อนและลิ้นไก่ให้สูงขึ้น

วิธีผ่าตัด

ในรายที่ทดลองใช้วิธีไม่ผ่าตัดแล้วไม่ได้ผล หรือไม่สะดวกใช้วิธีดังกล่าว ก็สามารถตัดสินใจเลือกใช้วิธีผ่าตัดได้ วิธีการผ่าตัดมีจุดประสงค์เพื่อขยายขนาดทางเดินหายใจส่วนบนให้กว้างขึ้น ซึ่งหลายคนเข้าใจว่าเป็นการผ่าตัดกล่องเสียงแต่แท้ที่จริงแล้วเป็นการผ่าตัดบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ และผนังคอหอย โดยแบ่งออกเป็น

  • การจี้ด้วยคลื่นวิทยุให้เนื้อเยื่อเพดานอ่อนและโคนลิ้นหดกระชับ เพื่อเปิดช่องให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น
  • ผ่าตัดต่อมทอลซิลในผู้ใหญ่ หรือทั้งต่อมทอลซิลและอดีนอยด์ในเด็ก
  • ผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน ลิ้นไก่ และโคนลิ้นเพื่อเปิดช่องทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น
  • ผ่าตัดเลื่อนกระดูกกรามบนและกรามล่าง
  • ผ่าตัดตกแต่งเนื้อเยื่อเพดานอ่อนด้วยเลเซอร์ เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยขยายขนาดทางเดินหายใจ
  • เพิ่มความแข็งแรงให้เนื้อเยื่อและลดการสั่นของเพดานอ่อน เช่น การฝังพิลลาร์

การป้องกัน

  • หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อให้กล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนกระชับตึงตัวขึ้นโดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากขึ้น มีโอกาสที่เนื้อเยื่อทางเดินหายใจส่วนบนจะหย่อนยานทำให้ทางเดินหายใจแคบลง
  • ควบคุมน้ำหนักตัวเพราะน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับไขมันสะสมรอบผนังช่องคอยิ่งผนังช่องคอแคบหนาเท่าไหร่ยิ่งทำให้เกิดอาการกรนและมีภาวะหยุดหายใจมากขึ้นเท่านั้น
  • สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจต้องขอรับคำแนะนำจากแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
  • งดดื่มเหล้า งดสูบบุหรี่ อย่างที่ทราบดีว่าแอลกอฮอล์และสารนิโคตินมีผลโดยตรงต่อกล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ ดังนั้นวิธีการป้องกันและแก้ปัญหาได้ตรงจุดที่สุดคือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และเลิกสูบบุหรี่อย่างถาวรไปเลย

การนอนกรนเป็นอันตรายกว่าที่คิด ถ้าหากคุณมีอาการดังที่กล่าวมา อย่านิ่งนอนใจหรือปล่อยทิ้งไว้เพราะคิดว่าไม่เป็นเรื่องสำคัญ ในคนที่มีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วยถือว่าเป็นอันตรายมาก เพราะส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงมากมาย และทำให้อายุสั้นลงด้วย ปัจจุบันเทคโนโลยีการแพทย์ก้าวล้ำไปไกล วิธีการรักษาอาการนอนกรนนั้นทำได้ง่ายขึ้นมาก เพียงแค่ยินดีรับคำปรึกษาจากแพทย์และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำเพียงเท่านี้ก็ช่วยให้การนอนของคุณเป็นการนอนหลับที่มีคุณภาพ ส่งเสริมให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง