ถ้าหากคุณมีอาการเสียงแหบ เสียงแห้งเสียงพูดผิดปกติไปจากที่เคย อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งอาการเจ็บไข้ได้ป่วยทั่วไป เป็นหวัดคัดจมูกน้ำมูกไหลมีการใช้เสียงมากเกินไป อายุมากขึ้น ดื่มเหล้าสูบบุหรี่จัด ได้ความกระทบเทือนที่กล่องเสียงจากการประสบอุบัติเหตุรวมถึงความผิดปกติของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงและอีกเหนึ่งสาเหตุสำคัญที่เป็นไปได้ก็คืออาการสายเสียงอัมพาต แล้วอาการนี้เป็นอย่างไรเกิดขึ้นได้อย่างไร มีวิธีแก้ไขหรือไม่ เรามาไขข้อข้องใจให้กระจ่างกัน
อวัยวะที่ทำให้เกิดเสียงคือ กล่องเสียง ภายในกล่องเสียงจะมีสายเสียงขึงอยู่สองด้าน ในเวลาที่ไม่ได้พูดสายเสียงทั้งสองจะหย่อนและอยู่ห่างกัน แต่เมื่อมีลมผ่านมาจากปอด สายเสียงทั้งสองนี้จะตึงตัวและเกิดการสั่นสะเทือนและโดยการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อขอลก่องเสียงจะทำให้เกิดเป็นเสียงสูงต่ำ แต่ยังไม่เป็นคำพูด จนกว่าเสียงนั้นจะกระทบกับคอ เพดานปาก ฟัน ลิ้นและริมฝีปาก ซึ่งขยับปรับเปลี่ยนรูปร่างไปตามคำที่ต้องการจะพูด จึงเกิดเป็นถ้อยคำต่างๆ ออกมา
สายเสียงอัมพาต อาจจะเป็นเพียงข้างเดียว หรือทั้งสองข้างก็ได้ สาเหตุเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทควบคุมการทำงานของเสียงจนทำให้สายเสียงไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ มักจะเกิดหลังการผ่าตัดบริเวณคอ ต่อมไทรอยด์ ผ่าตัดโรคหัวใจหรือปอด เกิดมะเร็งในปอดประสบอุบัติเหตุที่ลำคออาการผิดปกติบริเวณทรวงอกหรือ โรคหัวใจบางชนิด
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการสายเสียงอัมพาตรุนแรงมักมีปัญหาระบบทางเดินหายใจอุดกั้น ทำให้เสียงแหบและสำลักเวลารับประทานอาหาร แพทย์จะทำการประเมินเพื่อแก้ปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติสุขมากขึ้น ส่วนแนวทางการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ระยะเวลาที่เป็น รวมถึงประสบการณ์ความชำนาญของแพทย์แต่ละรายด้วย
จากลักษณะการทำงานของสายเสียงที่มีความตึงหย่อน พลิ้วไหวตามแรงลมจากปอด รวมถึงการหดเกร็งตัวขณะเปล่งเสียงพูด แต่เมื่อใดก็ตามที่สายเสียงไม่สามารถเปิดปิดได้ตามปกติ และเปิดค้างไว้ ส่งผลให้มีอาการเสียงแหบ เสียงแห้ง มีลมแทรกขณะพูด มีการสั่นของเสียงที่ผิดปกติไป ระบบทางเดินหายใจไม่ได้รับการป้องกัน ส่งผลต่อการกลืน เวลารับประทานอาหารทำให้เกิดการสำลัก และที่แย่ไปว่านั้น ถ้าหากไม่รักษาจะนำไปสู่ภาวะปอดอักเสบจากการสำลักได้
ถึงแม้ว่าเส้นประสาทในสมองจะเป็นตัวควบคุมสายเสียง แต่การเคลื่อนไหวผิดปกติก็ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทแต่เพียงอย่างเดียว อาจเกิดจากเนื้องอก ข้อกระดูกหรือข้อต่อบริเวณคอเคลื่อนจากการเกิดอุบัติเหตุ มีความผิดปกติของอวัยวะมาแต่กำเนิด เกิดการติดเชื้อ สายเสียงเป็นแผล และสาเหตุอื่นๆ ซึ่งต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง
ในเบื้องต้นแพทย์จะคลำตรวจบริเวณคอเพื่อหาอาการเจ็บหรือก้อนบวมผิดปกติ ตรวจเช็คจมูก ปากและคอ รวมถึงสอบถามอาการและพฤติกรรมประจำวัน เพื่อประเมินหาสาเหตุเบื้องต้น จากนั้นจึงทำการตรวจด้วยวิธีการต่างๆ ดังต่อไปนี้