เทคโนโลยีเกี่ยวกับการตรวจยีน ช่วยป้องกันโรคบางอย่างที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม รวมไปถึงมะเร็ง พร้อมทั้งใช้ในการวางแผนชะลอวัย ซึ่งเป็นอีกเทรนด์ของการดูแลสุขภาพที่คนทั่วโลกกำลังจับตา
ศ.นพ.สมยศ คุณจักร แพทย์ชำนาญการศัลยกรรมตกแต่ง เสริมสวย และเวชศาสตร์ชะลอวัย ยศการคลินิก และนายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โดยปกติการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของยีนที่ผิดปกติจากพ่อแม่สู่ลูกสามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ อีก 70 เปอร์เซ็นต์ มาจากตัวแปรในเรื่องของการใช้ชีวิต เช่น การดื่มเหล้า, สูบบุหรี่, การสัมผัสหรือการได้รับสารพิษปนเปื้อนทางอากาศและอาหาร การขาดการนอนหลับพักผ่อน และมีความเครียดเรื้อรัง ที่กระตุ้นให้เกิดโรค เช่น โรคเบาหวาน , โรคหัวใจและหลอดเลือด , โรคมะเร็ง
ปัจจุบันในแวดวงของการวิจัยทางการแพทย์ก็ยังมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อค้นหาอีกหลายโรคที่อาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของยีนที่ผิดปกติแต่ยังไม่ถูกค้นพบ สำหรับโรคที่ถูกวิจัยพบแล้วการตรวจหายีนที่ผิดปกติ จะเป็นประโยชน์ในการรักษาเชิงป้องกัน ด้วยการวางแผนดูแลและตรวจสุขภาพอย่างตรงจุดเสี่ยง เป็นแนวทางป้องกันโรคได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะถ้าปล่อยให้เกิดโรคย่อมเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามากกว่าการป้องกันดูแลสุขภาพ และเกิดโรคแล้วก็ย่อมมีผลกระทบต่อร่างกายแลจิตใจ รวมทั้งการดำรงชีวิตในสังคม ครอบครัว และในด้านชีวิตส่วนตัวอย่างมากมาย
ตอนนี้เทรนด์ของการตรวจยีน นอกจากช่วยวางแนวทางการดูแลและตรวจสุขภาพเพื่อป้องกันโรคที่มีสาเหตุจากพันธุกรรมแล้ว หลายคนยังมาตรวจเพื่อหาแนวทางดูแลสุขภาพเพื่อการชะลอวัย เพราะปกติการชะลอวัยที่ดีคือ การกินอาหารที่เหมาะสม การออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ได้รับวิตามินต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันก็ต้องมีการขับสารพิษในร่างกาย และป้องกันสารพิษใหม่ที่จะเข้าสู่ร่างกาย อย่างไรก็ตามร่างกายของแต่ละคนมีความต้องการในชนิดของอาหาร วิตามิน ชนิดของการออกกำลังกายและการขับสารพิษไม่เหมือนกัน
การตรวจยีนจะทำให้ทราบถึงแนวทางการออกกำลังกาย การทานอาหาร และปริมาณสารอาหารที่ร่างกายของเราควรได้รับ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เพื่อให้มีความเหมาะสมและเป็นอีกวิธีหนึ่งในการชะลอวัย ตัวอย่างเช่น การออกกำลังกายบางคนอาจต้องออกกำลังแบบแอโรบิคหรือแบบใช้ความทนทานของร่างกายน้อยหน่อย เช่น วิ่งระยะไกล ว่ายน้ำ แต่กลับไปเน้นแอนแอโรบิคหรือไปใช้พละกำลังมากกว่า เช่น ยกน้ำหนัก วิ่งระยะสั้น ซึ่งจะกลับมีผลเสียมากกว่าผลดี
เนื่องจากยีนเป็นเหมือนพิมพ์เขียวที่กำหนดให้ร่างกายแต่ละคนต้องการสิ่งต่าง ๆ ไม่เท่ากัน การรู้ว่าสิ่งไหนที่เหมาะสมกับตัวเองจะช่วยทำให้การชะลอวัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะบางคนร่างกายทนต่อการออกกำลังกายหนักมากไม่ได้ แต่ยังฝืน สุดท้ายจะเป็นการซ้ำเติมร่างกายมากกว่าจะได้ประโยชน์จากการออกกำลังกาย
เช่นเดียวกับการทานอาหารที่ดี ก็มีส่วนสำคัญในการชะลอวัย แต่คนแต่ละคนต้องการอาหารแต่ละประเภทไม่เท่ากัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะยีนเป็นตัวกำหนดว่า คน ๆ นั้นควรทานอาหารประเภทไหนมากน้อยกว่ากัน เพื่อให้ร่างกายมีความสมดุล ได้รับสารอาหารในปริมาณที่พอเหมาะไม่น้อยเกินไปจนขาดสารอาหาร หรือมากเกินไปจนทำให้เกิดโรค
นอกจากนี้การตรวจยีนจะทำให้รู้ถึงความสามารถในการกำจัดสารพิษในร่างกาย เพราะในแต่ละคนมีกลไกหรือสารกำจัดสารพิษหรือเราเรียกว่า เอนไซม์ไม่เท่ากัน ซึ่งยีนนี่เองที่เป็นตัวกำหนดการสร้างเอนไซม์ต่าง ๆ ดังนั้นการตรวจยีนจะทำให้เรารู้ว่าร่างกายมีความสามารถในการกำจัดสารพิษได้ดีพอหรือไม่ เพื่อจะได้พยายามหลีกเลี่ยงสารพิษนั้น หรือทานผักผลไม้บางชนิดที่มีเอนซม์ทดแทนเพื่อช่วยในการกำจัดสารพิษออกจากร่างกายได้ดีขึ้น
“ มะเร็งจากพันธุกรรมเป็นผลมาจากการถ่ายทอดลักษณะกลายพันธุ์ของยีนไปยังลูกหลาน โดยปกติยีนมีหน้าที่ควบคุมการทำงานและการเจริญเติบโตของเซลล์ในร่างกาย แต่เมื่อยีนเกิดการกลายพันธุ์ทำให้เกิดการแบ่งตัวของเซลล์เพิ่มขึ้นจนควบคุมไม่ได้ การตรวจหาความผิดปกติของยีนจึงช่วยทำนายความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ ปัจจุบันสามารถตรวจหามะเร็งได้มากกว่า 20 ชนิด ส่วนใหญ่ก็เป็นมะเร็งที่พบบ่อยในทั้งชายและหญิง เช่น มะเร็งที่ปอด ,ตับ , ไต , ผิวหนัง , ต่อมลูกหมาก , มดลูก , รังไข่, เต้านม, กระเพาะ, ลำไส้, ตับอ่อน, ไทรอยด์, ต่อน้ำเหลือง เป็นต้น ” ศ.นพ.สมยศ กล่าวต่อ
เมื่อเราทราบว่ามียีนมะเร็งชนิดใดเราก็สามรถหาแนวทางการตรวจสุขภาพเพื่อป้องกันความเสี่ยงนั้นได้อย่างตรงจุด มะเร็งบางชนิดเมื่อได้รับการถ่ายทอดยีนที่ผิดปกติจากกรรมพันธุ์จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคค่อนข้างสูงมาก เช่น มะเร็งเต้านม , มะเร็งรังไข่ , มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น ดังนั้นหากพบว่ามีญาติสายตรง เช่น พี่สาว น้องสาว แม่ ป้า หรือพบผู้ชายในครอบครัวเป็นมะเร็ง คนในครอบครัวสมควรได้รับการตรวจยีนประเมินความเสี่ยงโรคมะเร็งเพื่อวางแนวทางการตรวจสุขภาพป้องกันการเกิดโรคไว้แต่เนิ่น ๆ
โดยขั้นตอนการตรวจยีน ต้องเจาะเลือดประมาณ 6 ซีซี จากนั้นใช้เวลาตรวจ 1 เดือน เพื่อค้นหาว่า มียีนที่ผิดปกติเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งที่ถ่ายทอดผ่านพันธุกรรมหรือไม่ ซึ่งคนทุกวัยสามารถมาตรวจยีนได้ และการตรวจยีนมะเร็งซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรมจะทำเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในชีวิต
ตัวเอย่างของผู้ที่ตรวจยีนเพื่อประเมินความเสี่ยงมะเร็ง เช่น “แองเจลินา โจลี” ตรวจพบยีน BRCA ผิดปกติซึ่งทำให้มีความเสี่ยงมะเร็งเต้านมสูงเกิน 80% เธอตัดสินใจตัดเต้านมออก เพื่อเป็นการป้องกันก่อนที่โรคร้ายจะเกิด นี่อาจเป็นวิธีสุดท้ายที่แนะนำ แต่เบื้องต้นควรหาทางป้องกัน เช่น ถ้ามาตรวจยีน แล้วพบความเสี่ยงตั้งแต่อายุ 20 ปี ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมาตรวจอัลตร้าซาวด์เต้านมทุก ๆ 6-12 เดือน แทนที่จะรอถึงอายุ 40 ปี
มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่เป็นมากในคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป มะเร็งเต้านมระยะแรก ๆ มักไม่แสดงอาการ และมักคลำพบก้อนเนื้อหรือแสดงอาการในระยะท้าย ๆ หรือภาวะที่มะเร็งแพร่กระจายแล้ว และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าตรวจยีนแล้วรู้ว่ามีความเสี่ยง การเฝ้าระวังและวางแผนการตรวจสุขภาพที่ตรงจุดจะตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงในการพบในระยะที่โรคแพร่กระจายมีน้อยกว่า หรือคนที่มีการตรวจยีนแล้วพบว่า มียีนที่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอด จะต้องพยายามหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ และสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่นเยอะ ๆ เพราะจะกระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้ ซึ่งปกติโรคนี้พบมากในคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ในคนที่มีภาวะเสี่ยงอาจเกิดเร็วกว่านั้น ถ้าเราตรวจยีนพบความเสี่ยงของการเป็นโรคตั้งแต่อายุยังน้อย จะต้องมาวางแผนการตรวจสุขภาพที่ตรงจุดและลึกมากขึ้น เช่น ควรตรวจเอกซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ถ้าพบสิ่งผิดปกติ ก็ตรวจเพิ่มเติมด้วยการทำซีทีสแกนปอด เพื่อดูว่าพบก้อนเนื้อผิดปกติที่นำไปสู่การเป็นมะเร็งหรือไม่ ซึ่งถ้ารักษาในระยะเริ่มต้นของโรคก็อาจจะรักษาให้หายขาดได้
การตรวจยีนเพื่อวางแผนป้องกันมะเร็งที่เกิดจากกรรมพันธุ์ และการวางแผนชะลอวัยเป็นอีกแนวทาง ที่จะทำให้คนที่รักสุขภาพ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยง ลดความประมาท และรู้เท่าทันถึงจุดเด่น จุดด้อยภายในร่างกายของตัวเอง และคนในครอบครัว ซึ่งแนวทางนี้น่าจะเป็นมาตรฐานใหม่ของการดูแลสุขภาพในอนาคต